วันพุธที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

การแทงหยวก


วิถีการดำเนินชีวิตของคนในยุคปัจจุบันนั้นมีการแข่งขันกันสูงในทุกๆ ด้าน จนไม่มีเวลาเหลือพอที่จะสนใจเรื่องอื่นๆ ที่ไม่มีความจำเป็นในชีวิตประจำวัน ดังนั้นเรื่องของศิลปะวัฒนธรรมของไทยเราจึงเป็นเรื่องของคนเฉพาะกลุ่มที่มีความสนใจ วัฒนธรรมต่างๆ ที่มีการสืบทอดกันมาก็เริ่มสูญหายไป เช่นเดียวกันกับงานช่างแทงหยวก ที่คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าเกี่ยวข้องกับเรื่องของงานอวมงคล หรืองานศพ ซึ่งโดยเนื้อแท้แล้วยังมีความเกี่ยวข้องกับงานมงคลต่างๆ อันได้กล่าวอ้างไปแล้วในเนื้อข้างต้น

รูปแบบการใช้งานที่เกี่ยวข้องกับงานแทงหยวก จึงกลายมาเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับงานศพ หรือวัฒนธรรมเกี่ยวกับเรื่องของการตาย ช่างแทงหยวกที่มีฝีมือในปัจจุบันนั้นมีจำนวนน้อย และเป็นที่รู้จักเฉพาะในท้องถิ่นเท่านั้น ปัจจุบันงานช่างแทงหยวกกลายมาเป็นหนึ่งในรูปแบบของประกอบธุรกิจเกี่ยวกับเรื่องของงานศพ ซึ่งมีอัตราค่าจ้างสูงมาก ซึ่งผิดกับในยุคโบราณซึ่งจะเป็นลักษณะของงานที่ร่วมแรงร่วมใจกันเพื่ออุทิศให้แก่ผู้ตาย
งานช่างแทงหยวกเป็นงานช่างแขนงหนึ่งของหมู่ช่างแกะ คือ ในหมู่งานช่างเครื่องสด อันประกอบด้วยงานช่างแทงหยวก งานแกะสลักของอ่อน และงานประดิษฐ์ดอกไม้สด งานช่างแทงหยวก หมายถึง งานช่างวิจิตรศิลป์ที่ใช้มีดสองคมแทงลงไปบนกาบกล้วยให้เกิดลวดลายเป็นแบบลายไทยในลักษณะต่างๆ ส่วนใหญ่นายช่างที่จะแทงหยวกได้นั้นจะต้องมีความชำนาญเกี่ยวกับเรื่องลายไทย การผูกลวดลาย เมื่อใช้มีดสองคมแทงลวดลายไปบนกาบกล้วยแล้ว จะไม่มีการร่างเส้นลวดลายลงบนกาบกล้วย เพราะจะทำให้กาบกล้วยช้ำ เป็นรอยไม่สวยงาม และงานช่างแขนงนี้ มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ไม่เหมือนกับงานช่างฝีมือแขนงอื่นๆ กล่าวคือวัสดุที่นำมาใช้ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ได้จากธรรมชาติ ตัดและเก็บมาสดๆ สามารถหาได้ในท้องถิ่นนั้นๆ นายช่างที่ดีจึงจำเป็นจะต้องฝึกฝนทักษะด้านต่างๆ ให้เกิดความเชี่ยวชาญและชำนาญอยู่เสมอ และสามารถถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับงานช่างแทงหยวกนี้ให้กับบุคคลอื่นได้ กอรปกับสามารถรักษาเอกลักษณ์ของตนให้คงอยู่สืบต่อไปได้

งานช่างแทงหยวกสามารถพบเห็นได้ในงานพิธีมงคล อันได้แก่ ประกอบเบญจาในงานโกนจุก และพิธีทางพุทธศาสนา เช่น ใช้ตกแต่งธรรมมาสน์เทศน์ในงานเทศมหาชาติ ตกแต่งประดับตั้งองค์กฐิน เป็นต้น ส่วนในงานอวมงคลที่พบคือการแทงหยวกตกแต่งเชิงตะกอนเผาศพ เป็นประเพณีที่ยึดถือมาตั้งแต่โบราณกาล มีรูปแบบสืบทอดกันมาปรากฏในรูปแบบของงานราชสำนัก ที่เรียกว่า "พระจิตกาธาน" ที่ใช้ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ และพระราชพิธีพระราชทานเพลิงศพ ออกเมรุที่ท้องสนามหลวง และรูปแบบของสกุลช่างชาวบ้าน ตามชุมชนหรือหัวเมืองจังหวัดต่างๆ เช่น ช่างแทงหยวกสกุลช่างวัดระฆังโฆษิตาราม ช่างแทงหยวกสกุลช่างวัดอัปสรสวรรค์ ช่างแทงหยวกสกุลช่างวัดดงมูลเหล็ก และช่างแทงหยวกสกุลเพชรบุรี เป็นต้น

งานช่างแทงหยวกเป็นงานช่างฝีมือดั้งเดิมอีกแขนงหนึ่งที่กำลังจะสูญหายไปจากสังคมไทยเพราะความเปลี่ยนแปลงของกาลเวลา และสภาพของสังคมไทยที่รับเอาวัฒนธรรมของชาติอื่นเข้ามาใช้ส่งผลให้วัฒนธรรมดั้งเดิมนี้กำลังสูญหายไปในที่สุด

การแร ในงานช่างแทงหยวกแบบสกุลช่างวัดระฆังโฆษิตาราม


การแร คือ การสอดไส้หรือตัดเส้นตัวลาย ทั้งนี้เพื่อให้ตัวลายมีความชัดเจนยิ่งขึ้น การที่ต้องมีการแรก็เพราะเหตุว่า ในการแทงหยวกนั้นกระทำได้แต่โครงสร้างหยาบๆ ของตัวลายเท่านั้น ส่วนลายละเอียดนั้นแทงลงไปทีเดียวไม่ได้ เพราะจะทำให้ตัวลายขาดออกจากกัน การส่งรายละเอียดของตัวลายจึงต้องกระทำโดยการแร
                                          
วิธีการแร คือ การใช้ปลายมีดกรีดลงบนผิวหยวกเบาๆ พอเป็นรอย ในการขีดจะต้องใช้นิ้วชี้ประคองใบมีดให้เคลื่อนไปในทิศทางที่ต้องการ

การย้อมสี

การย้อมสี หรือระบายสีหยวกที่สลักแล้ว จะทำให้เกิดความสวยงาม เห็นตัวลายปรากฏเป็นรูปร่างชัดเจน ในการระบายสีลวดลายบนหยวกนั้น บางท้องถิ่นใช้วิธีทาสีลงไปบนลวดลายโดยตรง บางท้องถิ่นใช้วิธีการพ่นสีโดยใช้กระบอกฉีด

การย้อมสีโดยวิธีระบาย การย้อมโดยวิธีระบายนั้น ได้แก่ การใช้แปรง พู่กัน ชุบสีแล้วระบายลงไปบนลวดลายที่สลักไว้ เมื่อสีซึมลงไปในรอยที่แร จะทำให้ตัวลายเด่นชัดขึ้น

ในการระบายสีหยวกที่สลักสองซีกเป็นลวดลายที่เหมือนกัน เช่น ลายฟันปลา ฟันสาม และฟันห้า เป็นต้น การระบายสีต้องระบายสลับกัน เพื่อเวลาแยกออกเป็นสองส่วนแล้วจะได้สีของสองสีในคราวเดียวกัน

คุณค่าของงานช่างแทงหยวก


คุณค่าของงานช่างแทงหยวกสามารถแสดงออกมาได้หลายมิติ หรือหลายด้าน เช่น ด้านวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับการตาย ซึ่งสืบทอดกันมาแต่โบราณ มีหลักฐานว่าเกิดขึ้นจากพิธีกรรมของคนที่นับถือพุทธศาสนา เกี่ยวเนื่องมาจากพิธีกรรมต่างๆ เช่น การเผาศพ แต่เดิมการเผาศพมักจะเผาศพบนเมรุชั่วคราว ในบริเวณกลางแจ้ง ทำด้วยไม้ ล้อมเป็นอาณาเขตทำด้วยไม้ไผ่ หรือวัสดุที่หาได้ในท้องถิ่นนั้น ประดับประดาด้วยกระดาษสีและผ้า เชิงตะกอนสำหรับใช้เผาศพจะรองด้วยต้นกล้วยก่อนที่จะวางเรียงท่อนฟืนและหีบศพ ด้วยเหตุที่ว่าต้นกล้วยและกาบกล้วยมีน้ำและความชื้นเป็นฉนวนกันไฟไม่ให้ไหมเชิงตะกอน กว่าจะเผาศพมอดไหม้เหลือแต่เถ้าถ่านก็ใช้เวลานาน ดังนั้นจึงจะต้องใช้ต้นกล้วยมาล้อมฐานเชิงตะกอน วิวัฒนาการของการใช้ต้นกล้วยล้วน เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของการใช้ต้นกล้วยมาเป็นการลอกกาบกล้วยออกมา และคิดสร้างสรรค์ลวดลายให้ปรากฏบนกาบกล้วย ด้วยวิธีการของช่างฯ จนกลายมาเป็นงานช่างแทงหยวกในปัจจุบันที่มีความงดงามประกอบเป็นรูปทรงต่างๆ หากแต่ยังคงคุณลักษณะพิเศษของการใช้งานอยู่เดิม



สถานภาพปัจจุบันของการถ่ายทอดความรู้และทักษะเกี่ยวกับงานช่างแทงหยวก


เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับเมื่อหลายๆ ปีที่ผ่านมา พบว่าสถานภาพการถ่ายทอดความรู้และทักษะต่างๆ เกี่ยวกับงานช่างแทงหยวกนั้นดีกว่า มีทางเลือกมากขึ้น ทั้งการเผยแพร่ความรู้ผ่านทางสื่อโทรทัศน์ อินเตอร์เน็ต และสื่อต่างๆ ทั้งในระดับท้องถิ่น และระดับภูมิภาค เป็นต้น แต่ก็ยังคงมีปัญหาและอุปสรรค เช่น ค่าอุปกรณ์ที่มีราคาแพง (มีดแทงหยวก) ระยะเวลาในการถ่ายทอดอาจจะสั้นเพราะปัจจัยต่างๆ ที่มีผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม

เมื่อมีการเข้าถึงซึ่งแหล่งข้อมูลหรือแหล่งความรู้เกี่ยวกับงานช่างแทงหยวกได้หลากหลาย สิ่งที่ตามมาคือการเลื่อนไหลทางวัฒนธรรม อันมีผลกระทบโดยตรงทั้งด้านที่ดีและด้านที่ไม่เหมาะสมต่อรูปแบบของงานช่างแทงหยวกในสกุลช่างต่างๆ ซึ่งอาจมีการนำรูปแบบที่มิใช่ของตนเองเข้าไปผสมผสานจนเกิดความผิดเพี้ยนไปจากเอกลักษณ์และวัฒนธรรมของตน จนอาจทำให้คนรุ่นหลังเกิดความเข้าใจผิดคิดว่าสิ่งที่ตนเองรับรู้มาเป็นสิ่งที่ถูกต้องเพราะขาดความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับงานช่างแทงหยวกในสกุลช่างต่างๆ ดังนั้นหากผู้เป็นช่างฯ ขาดความรู้ความเข้าใจในรากเหง้าทางวัฒนธรรมและเอกลักษณ์เฉพาะของตนเอง ผู้สืบทอดงานช่างฯ เองก็อาจเป็นต้นเหตุของการล่มสลายไปของงานช่างที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะท้องถิ่นนั้นไปได้ด้วยเช่นกัน

ลักษณะพิเศษและเอกลักษณ์ของงานช่างแทงหยวก


1.         ไม่มีการร่างลวดลายลงบนกาบกล้วย หรือหยวกกล้วยก่อน ช่างแทงหยวกจึงต้องมีความชำนาญ ทักษะ และจังหวะที่ดี จึงจะแทงหยวกได้สวยงาม ลวดลายมีความสม่ำเสมอกัน

2.         เป็นงานที่ต้องทำแข่งขันกับเวลา กล่าวคือ ต้องเตรียมการและปฏิบัติงานแทงหยวกก่อนใช้งานในระยะเวลาไม่เกิน 10 – 12 ชั่วโมง

3.         วัสดุที่นำมาใช้ล้วนแต่เป็นของธรรมชาติ ที่สามารถหาได้ในท้องถิ่นนั้น ต้นกล้วยที่ใช้ในงานแทงหยวก คือ กล้วยตานี เพราะมียางน้อย กาบด้านในมีสีขาว (กล้วยหักมุก สามารถนำมาได้เหมือนกัน)

4.         มีเอกลักษณะเฉพาะถิ่นทั้งรูปแบบและลักษณะของลวดลายในแต่ละท้องถิ่นมีการใช้ที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับความเชื่อและประเพณีที่สืบทอดกันมา

5.         ลายที่ใช้ในงานช่างแทงหยวก คือ ลายไทย เป็นหลัก อาจมีการแผลง หรือผันแปรไปตามจินตนาการของช่างแทงหยวกในยุคปัจจุบัน

6.         เป็นงานช่างที่สืบทอดกันมานานนับแต่สมัยโบราณ

7.         ลักษณะเฉพาะของงานช่างแทงหยวกในราชสำนัก จะต้องประกอบไปด้วยงาน 3 ประเภท คือ งานช่างแทงหยวก งานช่างแกะสลักของอ่อน และงานช่างประดิษฐ์ดอกไม้สด


บุคคลสำคัญที่แทงหยวก
ช่างประสม สุสุทธิ เป็นหัวหน้าช่างแทงหยวกวัดคงคาราม เกิดเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2465 เป็นบุตรของนายประเสริฐ และนางทองดี สุสุทธิ ช่างประสมมีความรู้ความสามารถในงานช่างไทยมาก เป็นลูกศิษย์ของพระอาจารย์จันทร์ ศุภโร วัดเขาวัง ซึ่งเป็นศิษย์ของพระอาจารย์เป้า แห่งวัดพระทรง และได้เคยเข้าร่วมแทงหยวกตกแต่งพระจิตกาธานงานพระราชพิธี ถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ พร้อมกับช่างเลี่ยม เครือนาค ช่างหอม วงศ์ทองดี ปัจจุบันช่างประสมเสียชีวิตแล้ว ผู้สืบทอดต่อคือ นายพิษณุ และนายวิริยะ สุสุทธิ